สมาคมพิโกไฟแนนซ์ คว้ารางวัลองค์กรดีเด่นแห่งปี 2021
พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส เป็นประธานพิธีมอบประกาศเกียรติคุณรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี สตรีตัวอย่างแห่งปี และองค์กรดีเด่นแห่งปี”ประจำปี 2564 โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดินมูลนิธิเพื่อสังคมไทย ซึ่งจัดขึ้น ณ หอประชุมกองทัพอากาศ(อาคารทองใหญ่) ถนนพหลโยธิน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร (18 พฤศจิกายน 2564)โดยมี พลเอกสุนัย สัมปัตตะวนิช ประธานมูลนิธิเพื่อสังคมไทย พบเอกไชยพร รัตแพทย์ รองประธานมูลนิธิเพื่อสังคมไทย พลอากาศเอก ดร. ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ คณะกรรมการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นเกียรติ
พลเอกไชยพร รัตแพทย์ รองประธานมูลนิธิเพื่อสังคมไทย กล่าวว่า พิธีมอบประกาศเกียรติคุณรางวัลครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของความน่าเชื่อถือ เป็นหลักประกันในคุณภาพ ภาพลักษณ์ที่ดี ส่งเสริมให้บุคคลและองค์กร ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในกรอบของคุณความคุณงามความดี มีวินัย มีความสามารถในการแข่งขัน และเป็นแบบอย่างที่ดีของคนทั่วไป ร่วมยกระดับสังคมไทยให้มีความน่าอยู่ มีความมั่นคง มั่งคั่งสืบไป ซึ่งบุคคล หรือองค์กรที่จะก้าวสู่เส้นทางเกียรติยศของความสำเร็จได้นั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติหลายประการ ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ รู้จักคิดแก้ปัญหา มีความอดทนฟันฝ่าอุปสรรคได้อย่างมีแบบแผน ไม่กระทบกระเทือนกับสิ่งรอบข้างประการสำคัญคือการมีจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรม นับเป็นพลังแฝงเร้นอยู่ในกายที่มี คุณค่ายิ่งต่อสังคมที่ประสบความสำเร็จ มักจะยึดถือเป็นหลักในการดำเนินชีวิตอยู่อย่างต่อเนื่อง และนี่คือที่มาของรางวัลเพื่อคนไทยและสังคมไทย
โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้คนไทย ประกอบคุณงามความดีด้วยกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม มูลนิธิเพื่อสังคมไทยจึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบคุณงามความดีในรูปแบบของการมอบรางวัลให้กับบุคคล และองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต การบริหารกิจการ ทั้งภาครัฐ และเอกชน แบ่งเป็นรางวัล นักบริหารดีเด่นแห่งปี EXECUTIVE OF THE YEAR 2021 จำนวน 77 รางวัล สตรีตัวอย่างแห่งปี WOMEN OF THE YEAR 2021 จำนวน 23 รางวัล และองค์กรดีเด่นแห่งปี ORGANIZATION OF THE YEAR 2021 จำนวน 30 รางวัล ในจำนวนนี้ มูลนิธิเพื่อสังคมไทยได้เล็งเห็นว่า สมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทย เป็นองค์กร ที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม สังคม และประเทศชาติ พร้อมทั้งมีการตอบแทนคุณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ เห็นสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคม และสาธารณะชนสืบไป จึงได้มอบประกาศเกียรติคุณรางวัลให้ สมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯ เป็นองค์กรดีเด่นแห่งปี 2564 นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นนสมาชิกของสมาคมพิโกไฟแนนซ์ ฯ ได้รับประกาศเกียรติคุณ อีก 3 รางวัล คือรางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี (สาขา บริหารและพัฒนาธุรกิจ) ให้กับนายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯ ผู้ประกอบการบริษัท โอ.เค.2017 จำกัด (พืโกไฟแนนซ์) จังหวัดภูเก็ต และบริษัท ภูเก็ตรวมทุน 2017 จำกัด (พิโกไฟแนนซ์) จังหวัดพังงา และรางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี (สาขา บริหารและพัฒนาธุรกิจ) ให้กับ นายฉัตรชัย เล่งอี้ ผู้ประกอบการ บริษัท ฉัตรชัยพิโก จำกัด จังหวัดศรีสะเกษ บริษัท ฉัตาชัยพิโก จำกัด จังหวัดยโสธร และบริษัท ฉัตรชัยพิโก จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี
รางวัลสตรีตัวอย่างแห่งปี (สาขาบริหารและพัฒนาองค์กรธุรกิจ ) ให้กับ ผศ.ดร.เพ็ญศรี จารุกำเนิดกนก ที่ปรึกษาสมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯ ผู้ประกอบการบริษัท โกลด์ แอนด์ เจม จำกัด (พิโกไฟแนนซ์) จังหวัดนครราชสีมา บริษัท พิโก กรุงเทพ จำกัด (พิโกไฟแนนซ์) กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับส่วนรวม สังคม ประเทศชาติ พร้อมทั้งมีการตอบแทนคุณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ สมควรได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและสาธารณชนสืบไป
นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ฯ กล่าวว่า หลังจากมีการประชุมก่อตั้งสมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทยขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2560 ณ จังหวัดร้อยเอ็ดที่ประชุมมีมติแต่งตั้งให้ตนเป็นประธานชมรมคนแรก มีนายฉัตรชัย ไกรสรกิตติ เป็นรองประธาน นายไชยวัฒน์ อึงสวัสดิ์ เป็นเลขาฯ นายขจิต เสรีรัตน์ เป็นที่ปรึกษา ก่อนจะยกฐานะเป็นสมาคมจนถึงปัจจุบัน
วันนี้เป็นวันหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจของชาวพิโกไฟแนนซ์ฯ ซึ่งสมาคมฯได้การยกย่องให้เป็นองค์กรดีเด่นแห่งปี 2564 รวมทั้งผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิก ได้รับรางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี จำนวน 2 รางวัล และรางวัลสตรีตัวอย่างแห่งปี อีก 1 รางวัล ทั้งนี้ล้วนเกิดจากความร่วมมือของคณะกรรมการบริหารสมาคม ตลอดจนผู้ประกอบการที่กระจายอยู่ทั่วทุกจังหวัดซึ่งสมาคมจัดตั้งขึ้นเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ปัญหา หนี้นอกระบบ ที่เป็นปัญหาในระบบการเงินกู้ยืมในสังคมไทย โดยเฉพาะ กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อย ต้องกู้เงินอัตราดอกเบี้ยสูง การติดตามทวงหนี้ที่สุดโหด และไม่มีโอกาสที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมด แนวทางปฏิบัติของรัฐต้องการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบโดยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจำเป็นที่ต้องการเพิ่มช่องทางให้กับประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงอนุญาตให้มีการประกอบกิจการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ(สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ให้เจ้าหนี้หรือนายทุนให้มาขออนุญาตให้ถูกต้อง โดยขอให้ทุกคนหรือบริษัท เข้ามาขอจดทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ให้แต่ละบริษัท ปฏิบัติอยู่ในระบบเดียวกัน เป็นการให้สินเชื่อรายย่อย เอนกประสงค์ วงเงินคนละไม่เกิน 50,000.- บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) อัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมอื่นไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี จะมีหรือไม่มีหลักประกันก็ได้
ปัจจุบันผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์ ได้ปล่อยกู้ให้ประชาชนไปแล้วกว่า 1 ล้านราย ยอดเงินสินเชื่อประมาณ 15,000 ล้านบาท แม้สถานการณ์ในปัจจุบันผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ทำให้ลูกหนี้ขาดรายได้ ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตรงตามกำหนด ทางผู้ประกอบการได้หาแนวทางช่วยเหลือ โดยการขยายเวลาการชำระหนี้ และประนีประนอมให้ลูกหนี้จนสามารถฟันฝ่าวิกฤตไปด้วยกันได้ น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทางมูลนิธิเพื่อสังคมไทย ซึ่งเฝ้าจับตาดูอยู่ ได้มองเห็นการทำความดี มีคุณธรรมในการประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ของเราให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ สำหรับรางวัลต่างๆที่ได้รับในครั้งนี้ ทางสมาคมฯ ตลอดจนผู้ประกอบการจะได้ร่วมกันรักษาเกียรติคุณของความดี อันทรงคุณค่านี้ไว้อย่างดีตลอดไป
อ้างอิงเนื้อหา และรูปภาพจาก http://www.pandinthaipost.com/2021/11/23/39249/